การพัฒนาธุรกิจประเภทร้านอาหาร

1564 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การพัฒนาธุรกิจประเภทร้านอาหาร

วิธีการจัดตั้งและเริ่มต้นธุรกิจการจดทะเบียนพาณิชย์
ในการพัฒนากลยุทธ์การตลาด ผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนทัศนคติในการมองเรื่องต่าง ๆ และต้องให้ความสำคัญกับข้อมูล ต้องประเมินสถานการณ์ อย่างถูกต้องและเป็นธรรม การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาดจะประกอบด้วย 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ ตลาดและผลิตภัณฑ์

ประเภทบุคคลธรรมดา
มีลักษณะเป็นกิจการที่มีเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา คนเดียวหรือหลายคน หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ประเภทไม่จดทะเบียนผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร ประเภทบุคคลธรรมดา ต้องจดทะเบียนพาณิชย์สถานที่ยื่นขอจดทะเบียน
กรุงเทพฯ ยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานบริการการจดทะเบียนธุรกิจ 1-7 สำนักทะเบียนธุรกิจ และส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ต่างจังหวัด ยื่นขอจดทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ/กิ่งอำเภอที่ตั้งสถานประกอบการ ยกเว้นอำเภอเมือง หรือ อำเภอที่มีการกำหนดให้ยื่น ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัดที่ตั้งสถานประกอบการ

ประเภทนิติบุคคล
ผู้ประกอบการธุรกิจต้องจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สถานที่ยื่นขอจดทะเบียน
กรุงเทพฯ ยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานบริการจดทะเบียนธุรกิจ 1 – 7 และส่งจดทะเบียนธุรกิจกลาง สำนักทะเบียนธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

ต่างจังหวัด ยื่นขอจดทะเบียน ณ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าจังหวัด ที่ห้างหุ้นส่วนบริษัทมี สำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่

ภาษีเงินได้
บุคคลธรรมดา
ต้องยื่นขอเป็นผู้มีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อ สรรพากรพื้นที่ ที่ตั้งของสถานประกอบการ
- ต้องยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีและครึ่งปี (ภ.ง.ด.90 และ 94)
- หากมีรายได้เกิน 1,200,000 ต่อปี ต้องยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30

นิติบุคคล
ต้องยื่นขอเป็นผู้มีบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากรต่อ สรรพากรพื้นที่ ที่ตั้งของสถานประกอบการ
- ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล ประจำปี และ ครึ่งปี (ภ.ง.ด.50 และ 51)
- หากมีรายได้เกิน 1,200,000 ต่อปี ต้องยื่นชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภ.พ. 30

กฎหมายและระเบียบเฉพาะธุรกิจ
ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ธุรกิจร้านอาหาร เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ต้องขออนุญาตประกอบกิจการก่อนดำเนินการสถานที่ขออนุญาต
กรุงเทพฯ ยื่นขอ ณ สำนักงานเขตที่ตั้งสถานประกอบการ
ต่างจังหวัด ยื่นขอ ณ สำนักงานเทศบาล หรือ สำนักงานสุขาภิบาล หรือ องค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดูแลเขตพื้นที่ที่ตั้งสถานประกอบการ ค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 10,000 บาท

การปิดป้ายแสดงราคาค่าบริการ
คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้จำหน่ายปลีกอาหารและเครื่องดื่ม ต้องปิดป้ายแสดงราคา ค่าบริการให้เห็นชัดเจนในที่เปิดเผย ณ สถานที่จำหน่าย การฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท

ใบอนุญาตจำหน่าย สุรา และยาสูบ
ผู้จำหน่ายสุรา และหรือ ยาสูบ ต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย
สถานที่ขออนุญาต
กรุงเทพฯ ยื่นขอ ณ กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง
ต่างจังหวัด ยื่นขอ ณ สำนักงานสรรพสามิตอำเภอ/กิ่งอำเภอ ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ค่าธรรมเนียม
สุรา ฉบับละ 110 – 1,650 บาท /ปี , ยาสูบ ฉบับละ 20 บาท/ปี
นอกจากนี้ยังมีกฎและระเบียบด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานที่ต้องถือปฏิบัติ

รายละเอียดการลงทุน
ค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนเริ่มต้น
จะแตกต่างกันตามขนาดและลักษณะของกิจการจากข้อมูลเฉลี่ยของการสำรวจการลงทุนเริ่มต้นของผู้ประกอบธุรกิจ จำแนกเป็น
- ตกแต่งอาคาร เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้สำนักงาน อัตราส่วนร้อยละ 14
- เครื่องมือและอุปกรณ์ในธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร อัตราส่วนร้อยละ 10 ประกอบด้วย ตู้เย็น ตู้แช่ เตาแก๊ส กระทะ หม้อ จาน ช้อน ซ่อม แก้ว และเครื่องครัวต่างๆ
- เงินทุนหมุนเวียน อัตราส่วนร้อยละ 76 ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการซื้อวัสดุสำหรับบริการลูกค้า เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า เป็นต้น

อัตราผลตอบแทนทางการเงิน
อัตราผลตอบแทนทางการเงินของธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของกิจการ ทำเลที่ตั้ง และความสามารถ ในการบริหารธุรกิจเป็นต้น จากการสำรวจพบว่า อัตรากำไรสุทธิต่อยอดรายรับจะประมาณร้อยละ 15.17 กำไรสุทธิต่อเงินลงทุนประมาณ ร้อยละ 39.22 ต่อปี โดยมีระยะเวลาคืน ทุนประมาณ 1.8 ปี



การตั้งราคาและโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม
ปัจจัยการตั้งราคา
ประกอบด้วย
- ต้นทุน
- ทำเลที่ตั้ง
- ค่าบริการของภัตตาคารและร้านอาหารในระดับเดียวกันในท้องตลาด

โครงสร้างราคา
คำนวณโดย ต้นทุน บวกกับ กำไรที่ต้องการ
ต้นทุนประกอบด้วย
- ต้นทุนผันแปร เช่น วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ ผักต่างๆ เป็นต้น
- ต้นทุนคงที่จัดสรร เช่น ค่าเช่า เงินเดือนพนักงาน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าเสื่อมราคาสิ่งปลูกสร้าง เครื่องมืออุปกรณ์

การบริหาร/การจัดการ
โครงสร้างองค์กร
ประกอบด้วยงานหลักดังนี้
1. ด้านการบริหาร รับผิดชอบด้านการเงิน บัญชี จัดซื้อ บุคคล ธุรการ ดูแลความสะอาดของร้าน ต้อนรับลูกค้า และบริหารงานทั่วไป
2. ด้านการปรุงอาหาร มีหน้าที่เตรียมวัตถุดิบ ปรุงอาหารสำเร็จ หรือปรุงอาหารตามที่ลูกค้าสั่ง รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาด เครื่องมือและอุปกรณ์ ในการปรุงอาหาร เช่น จาน ชาม ช้อน ช้อนส้อม มีด และเครื่องมืออุปกรณ์ในครัว เพื่อให้สะอาด และพร้อมสำหรับการใช้งาน รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาดในส่วนที่ใช้บริการ ลูกค้า เช่น จาน ชาม ช้อน ซ่อม รวมถึงเครื่องปรุงรสอาหาร
3. ด้านการให้บริการลูกค้า มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการต้อนรับลูกค้า รับคำสั่งรายการอาหารและเครื่องดื่ม เสิร์ฟอาหาร เก็บเงิน และอำนวยความสะดวก อื่นๆแก่ลูกค้า

วิเคราะห์ข้อดี ข้อด้อย โอกาส และอุปสรรค
ข้อดี
1. เป็นธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน เน้นในด้านความรู้หรือประสบการณ์
2. ใช้เงินลงทุนไม่สูง ให้ผลตอบแทนดี
3. แรงงานอื่นๆ (ยกเว้นแม่ครัว)หาได้ง่าย

ข้อด้อย
1. แม่ครัวฝีมือดีหายาก เข้าออกบ่อย
2. ต้องการทำเลที่ตั้งที่ดี ซึ่งหายาก และค่าเช่าสูง

โอกาส
1. คนไทยนิยมบริโภคนอกบ้านมากขึ้น และนิยมซื้ออาหารจากภายนอกมาบริโภคในบ้าน แทนการปรุงอาหารเอง
2. คนไทยตื่นตัวในด้านสุขภาพมากขึ้น ทำให้เลือกบริโภคอาหารที่สะอาดถูกสุขลักษณะ จึงเป็นโอกาสสำหรับร้านอาหารที่ถูกสุขลักษณะ
3. ร้านอาหารมีหลากหลายประเภท สามารถเลือกประเภทที่ถนัด หรือประเภทที่ยังไม่มี ในย่านที่ต้องการเปิดร้านอาหาร
4. มีทำเลที่ตั้งร้านและมีอาคารสิ่งปลูกสร้างอีกจำนวนมากที่สามารถเช่ามาดำเนินธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร
5. มีแหล่งให้เรียนรู้ด้านการปรุงอาหารจำนวนมาก

อุปสรรค
1. มีผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารจำนวนมาก การแข่งขันสูง
2. ต้นทุนค่าวัสดุในการปรุงอาหารสูงขึ้น

ข้อเสนอแนะ
ด้านการบริหารจัดการ
1. ต้องมีความรู้พื้นฐานในธุรกิจให้บริการของตนเอง และติดตามความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
2. ต้องมีความเป็นผู้นำและพื้นฐานความรู้ด้านการบริหารจัดการ
3. ส่งเสริมและให้โอกาสพนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจในลักษณะแบ่งปันผลประโยชน์จากรายได้
4. ให้ความสำคัญกับการสรรหาและฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร
5. ให้ผลตอบแทนและสิ่งจูงใจที่เหมาะสมเพื่อให้แรงกระตุ้นในการปฏิบัติงานของพนักงาน
6. ให้พนักงานมีส่วนร่วมในการบริหารหรือเสนอความคิดเห็น มีความรักและภักดีต่อองค์กร
7. ดำเนินการให้ถูกต้องต่อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับ
8. จัดทำแผนธุรกิจที่เหมาะสม ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
9. ต้องให้ความสำคัญและเวลากับการบริหารอย่างใกล้ชิด

ด้านการตลาด
การบริการ
1. ให้บริการที่ดีและเป็นกันเองกับผู้มาใช้บริการ
2. สร้างตราหรือเครื่องหมายเพื่อให้ลูกค้าระลึกถึงและจดจำได้ง่าย
3. สร้างมาตรฐานด้านการให้บริการและอัตราค่าบริการ
4. ให้บริการที่รวดเร็วแก่ผู้มาใช้บริการ
5. เสนอบริการรูปแบบอาหารใหม่ๆที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น
6. เสนอรูปแบบบริการใหม่ๆ เช่น การส่งอาหารถึงบ้านและสำนักงาน เป็นต้น

สถานที่ให้บริการ
1. ใช้เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย, สะอาด และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน
2. เลือกทำเลที่ตั้งให้เหมาะสม สะดวกต่อการติดต่อ เดินทางสะดวก

การส่งเสริมการขาย
1. ทำป้ายโฆษณาหน้าสถานบริการให้สะดุดตา
2. ลงโฆษณาในสื่อที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วยต้นทุนที่ต่ำ
3. ทำโบว์ชัว แผ่นพับ แนะนำบริการ แจกแก่กลุ่มเป้าหมาย

ด้านบัญชีและการเงิน
1. ไม่สร้างภาระค่าใช้จ่ายประจำมากเกินไป
2. มีโครงสร้างเงินลงทุนที่เหมาะสม ไม่ก่อภาระหนี้มากเกินไป
3. บริหารการเงินอย่างเหมาะสมให้ธุรกิจมีสภาพคล่องทางการเงินสูง
4. นำกำไรจากการดำเนินงานเป็นเงินทุนสำรองหรือสำหรับการขยายธุรกิจ
5. แยกบัญชีระหว่างธุรกิจและส่วนตัว
6. ควรจัดทำงบการเงินให้ถูกต้อง
7. นำระบบคอมพิวเตอร์และโปรแกรมสำเร็จรูปทางบัญชีมาช่วยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน

ที่มา : https://www.nanosoft.co.th/tips-business/39.php

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้